ปัจจุบันชุมชนส่วนหนึ่งเริ่มเข้มแข็ง พึ่งพาตัวเองได้อย่างดี ทั้งด้านโครงสร้าง การจัดการ วิถีชีวิต อาชีพและรายได้ สามารถสร้างความผาสุกดีกว่าเดิม แต่ชุมชนส่วนใหญ่ของประเทศยังมองไม่เห็นลู่ทาง ว่าจะเข้มแข็งได้ด้วยวิธีใด
ถ้าถามว่าอะไรคือสาเหตุ ทำให้ชุมชนสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองไม่ได้ คงต้องตอบกันยืดยาว เป็นปัญหาแบบงูกินหาง หรือปัญหาโลกแตก ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นตรงไหน แต่ถ้าแบ่งสาเหตุออกเป็นด้าน ๆ พอให้มองเห็นปัญหาและข้อจำกัด เพื่อหาจุดเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น น่าจะแยกให้พอเห็นภาพได้
1. ผู้นำชุมชน
- ขาดความรู้ เรื่องที่ควรรู้ เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ส่วนมากมักจะรู้แต่เรื่องที่
ตัวเองสนใจ หรือเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง
- ขาดความเข้าใจ หลักการพื้นฐานในการพัฒนา แนวทางและวิธีการพัฒนาที่ถูกต้องและ
เหมาะสม เช่น การเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจ ร่วมแก้ไข และร่วมรับประโยชน์อย่างเป็นธรรม ส่วนใหญ่ผู้นำมักตัดสินใจบางเรื่องโดยลำพัง จึงเกิดการแสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและพวกพ้อง
- ขาดการเอาใจใส่ ในการแสวงหาแนวทาง และวิธีการพัฒนาชุมชนของตัวเอง เช่น
การสร้างความสามัคคีของสมาชิกในชุมชน การร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงจัง ความต่อเนื่องในการดำเนินงานบางเรื่องที่ต้องใช้เวลาและค่อยเป็นค่อยไป
2. สมาชิกในชุมชน ขาดความเชื่อมั่น ไม่มีจิตสาธารณะ มักไม่มีการอุทิศเวลาและ
แรงกายแรงใจ แม้แต่ในโอกาสสำคัญ จึงไม่เกิดบรรยากาศที่ดีในการพัฒนา สมาชิกมักมีการกระทบ
กระทั่ง ทั้งทางด้านคำพูด ความคิด และการกระทำ ก่อให้เกิดความขัดแย้ง โดยขาดความอดทน อดกลั้น การรับฟังผู้อื่น และการให้อภัยในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้เกิดปัญหาลุกลามมากขึ้น หรือเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาชุมชน รวมทั้งผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส และผู้นำไม่ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
3. ปัจจัยพื้นฐานและขีดความสามารถของชุมชน ก่อนที่จะสร้างความ
เข้มแข็งในส่วนอื่น ๆ ชุมชนจำเป็นต้องได้รับการจัดการเกี่ยวกับโครงสร้างและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพของสมาชิกในชุมชนให้ดีในระดับหนึ่งก่อน หลังจากนั้นต้องมีการประชุมสำรวจจุดแข็งจุดอ่อนของ ว่าในชุมชนมีอะไรที่เป็นสิ่งดีแต่ถูกเก็บซ่อนอยู่ อะไรที่เป็นข้อด้อย และถามความคิดเห็นสมาชิกว่าจะเลือกเดินในทิศทางใด อาจมีหลายกลุ่มอาชีพ ต้องคำนึงเอกลักษณ์และภูมิปัญญาที่เป็นตัวตนของชุมชนไว้บ้างจะทำให้โอกาสในการพัฒนาเป็นไปได้มากขึ้น
4. ความจริงจังและต่อเนื่องของหน่วยงานภาครัฐ
หน่วยงานภาครัฐทั้งในระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มักทำงานแบบไม่ต่อเนื่อง และทำงานโดยไม่ให้โอกาสชุมชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ขาดการบูรณาการ มีไม่น้อยที่ชุมชนเบื่อหน่ายไม่ให้ความร่วมมือ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาถูกชวนให้ทำแล้วทิ้ง หากพื้นที่ใดได้หน่วยงานรัฐที่เอาใจใส่ จริงจัง ต่อเนื่อง หมั่นมาเยี่ยมเยียน ให้คำแนะนำปรึกษา ช่วยประเมินผลและแก้ปัญหาให้ ช่วยวางแนวทางให้ ชุมชนนั้นก็นับว่าโชคดีไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น